​เศรษฐกิจพอเพียงท้องถิ่น (ด้านการเกษตรและแหล่งน้ำ)

เศรษฐกิจพอเพียงท้องถิ่น (ด้านการเกษตรและแหล่งน้ำ)
                   7.1 ข้อมูลพื้นฐานของหมู่บ้านหรือชุมชน
                             “เทศบาลตำบลร่วมจิต”  เป็นตำบลใหม่ตั้งอยู่ในตำบลร่วมจิต  อำเภอท่าปลา  จังหวัดอุตรดิตถ์  แต่เดิมอำเภอท่าปลา  ชื่อเดิมเรียกว่า  “ทับป่า”  ขึ้นอยู่กับจังหวัดน่าน  ตามตำนานเคยมีสถานที่ริมแม่น้ำน่าน  มีหินใสสีขาวเหมือนตาปลาอยู่ในน้ำลึก  เชื่อว่าหินนี้ศักดิ์สิทธิ์มาก  ในวันสงกรานต์จะทำพิธีบวงสรวงแล้วจึงนำหินไปสกัดและเรียกบริเวณนี้ว่า  “บ่อแก้วตาปลา”  ต่อมาเรียกเพี้ยนเป็น “แก้วท่าปลา”  และหมู่บ้านนี้เรียกต่อมาว่า  “บ้านท่าปลา”  ซึ่งเป็นภาษาคำเมือง  หมายถึง  รอปลาขึ้นและจับปลานั่นเอง  ในสมัยที่เจ้าเมืองน่านยังมีเจ้าเมืองเป็นผู้ครอบครองนครน่าน  เมื่อประมาณร้อยปีเศษ  โดยรวมแขวงศีรษะเกษกับแขวงท่าปลาเข้าด้วยกันเป็นเขตน่าน  แต่เนื่องจากการติดต่อประสานระหว่างจังหวัดน่านกับอำเภอท่าปลาไม่สะดวก  เพราะระยะทางไกลมาก    
                   ต่อมาเมื่อปี  พ.ศ.  2465  จึงแยกมาขึ้นกับจังหวัดอุตรดิตถ์  และเมื่อประมาณปี  พ.ศ.  2512  ได้ย้ายมาที่ว่าการอำเภอท่าปลา  มาตั้งอยู่ในชุมชนอำเภอท่าปลาในปัจจุบันนี้  เนื่องจากที่ว่าการอำเภอเดิม  และเมื่อปีพุทธศักราช  2513 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดยกรมชลประทาน  ได้เปิดโครงการพัฒนาลุ่มน้ำน่านและก่อสร้างเขื่อนสิริกิติ์  ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่  พื้นที่อำเภอบางส่วนกลายเป็นอ่างเก็บน้ำ  ราษฎรก็ยินยอมและอพยพจากที่อยู่เดิมมายังที่นิคมสร้างตนเองลำน้ำน่าน  กรมประชาสงเคราะห์จัดสรรให้  ชาวอำเภอท่าปลาต้องละทิ้งถิ่นฐานบ้านที่อยู่เคยอยู่มาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ  ต้องหอบลูกจูงหลานเหมือนกับบ้านแตกสาแหรกขาด  ราวกับผู้ประสบภัยสงครามเกิดการผลัดพราก  พ่อแม่อยู่ทางลูกอยู่ทาง  จากเดิมที่มีความอุดมสมบูรณ์  ทั้งป่าไม้และสัตว์ป่า  สัตว์น้ำ  ผู้คนอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข  แต่ปัจจุบันดินแดนที่เป็นที่ตั้งของประชาชนในอำเภอท่าปลา  ผืนดินส่วนใหญ่เป็นดินลูกรังมีความแห้งแล้ง  ทำการเกษตรไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร  ชาวท่าปลาประสบกับความทุกข์ยากอย่างแสนสาหัส  เพื่อให้คนอีกหลายแสนหลายล้านคนได้มีความเป็นอยู่ที่สุขสบาย  มีน้ำมีกระแสไฟฟ้าใช้  แต่ตนเองต้องลำบากตรากตรำทุกขเวทนากว่า 30 ปีแล้ว
ต่อมาชุมชนตำบลร่วมจิตบางส่วนมีความเจริญจึงได้ยกฐานะเป็น “สุขาภิบาลร่วมจิต” เมื่อวันที่  13  ตุลาคม  พ.ศ. 2526  ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา  เล่มที่  100  ตอนที่  197  ลงวันที่   20  ธันวาคม  พ.ศ. 2526  และต่อมาได้มีพระราชบัญญัติ การเปลี่ยนแปลงฐานะจากสภาตำบล เป็น  สุขาภิบาล และเป็นเทศบาลตำบล พ.ศ. 2542  ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา  เล่มที่  116  ตอนที่  9    ลงวันที่  24  กุมภาพันธ์  พ.ศ. 2542    เป็นผลให้สุขาภิบาลร่วมจิตได้เปลี่ยนแปลงฐานะเป็น “เทศบาลตำบลร่วมจิต” เมื่อวัน ที่ 25 พฤษภาคม  พ.ศ.  2542 เป็นต้นมา โดยกำหนดใช้ชื่อ  และแนวเขตพื้นที่เดิมของสุขาภิบาลร่วมจิต
 
ปัจจุบันอำเภอท่าปลา  เป็นอำเภอที่มีพื้นที่มากที่สุดของจังหวัดอุตรดิตถ์ อยู่ห่างจากจังหวัดอุตรดิตถ์ประมาณ 40 กิโลเมตร  เป็นแหล่งอารยธรรมและอดีตดินแดนล้านนาตะวันออก  พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบที่อยู่ระหว่างเนินเขาและภูเขา  มีอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิริกิติ์อยู่ตอนกลาง  พื้นที่ส่วนใหญ่ของอำเภออยู่ในการดูแลของนิคมสร้างคนเองลำน้ำน่าน  เขตอนุรักษ์พันธ์สัตว์ป่า  และเขตป่าสงวนแห่งชาติ  โดยมีพื้นที่ที่เป็นกรรมสิทธิ์ของประชาชนน้อยมาก  ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเล็กๆน้อยๆตามฤดูกาล  และรับจ้างทั่วไปจึงมีรายได้ที่ไม่แน่นอนในการดำรงชีพ  ทำให้มีความเป็นอยู่ที่ค่อนข้างฝืดเคืองและมีความลำบากอยู่มาก
                   เทศบาลตำบลร่วมจิต อยู่ห่างจากตัวจังหวัดเป็นระยะทาง 29 กิโลเมตร มีพื้นที่รวมทั้งหมด  9.22  ตารางกิโลเมตร  ตำบลร่วมจิตมีอาณาเขตติดต่อดังนี้
                   ด้านเหนือ   ตั้งแต่หลักเขตที่  1  ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากศูนย์กลางถนนเข้าหมู่บ้านผัง  20  ทางทิศตะวันตก  ระยะ 100 เมตร  และห่างจากศูนย์กลางถนนเข้าหมู่บ้านผัง  30  ทางทิศเหนือระยะ 500 เมตร เป็นเส้นขนานระยะ  500 เมตร  กับศูนย์กลางทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1163 แยกทางหลวงจังหวัด หมายเลข 1045 ทางทิศตะวันออก ระยะ 1,000 เมตร  (ติดต่อเขต  อบต. ร่วมจิต   อำเภอท่าปลา)
                   ด้านตะวันออก  จากหลักเขตที่ 2 เป็นเส้นตรงไปทางทิศใต้  ถึงหลักเขตที่  3  ซึ่งตั้งอยู่ริมทางหลวงจังหวัดหมายเลข  1045  อุตรดิตถ์  -  เขื่อนสิริกิติ์  ฟากใต้  ตรงหลัก  กม. 30.300  (ติดต่อตำบลผาเลือด   อำเภอท่าปลา)
                   ด้านใต้   จากหลักเขตที่  3  เลียบเส้นแบ่งเขตระหว่างอำเภอท่าปลา   จังหวัดอุตรดิตถ์  กับอำเภอเมืองอุตรดิตถ์  จังหวัดอุตรดิตถ์  ไปทางทิศตะวันตก  ถึงหลักเขตที่  4  ซึ่งตั้งอยู่ตรงเส้นแบ่งเขตระหว่างอำเภอท่าปลา  จังหวัดอุตรดิตถ์  กับอำเภอเมืองอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ และห่างจากศูนย์กลางถนนเข้าหมู่บ้านผัง   20  ทางทิศตะวันตก  ระยะ 100 เมตร  (ติดต่อตำบลหาดงิ้ว   อำเภอเมือง)
                   ด้านตะวันตก   จากหลักเขตที่  4  เป็นเส้นขนาน  ระยะ  100 เมตร  กับศูนย์กลางถนนเข้าหมู่บ้านผัง  20  ไปทางทิศเหนือ ไปบรรจบกับหลักเขตที่  1 (ติดต่อตำบลหาดงิ้ว   อำเภอเมือง)
                   7.2 ข้อมูลด้านการเกษตร
                       อาชีพของชาวตำบลร่วมจิต อำเภอท่าปลาส่วนใหญ่ คือ การทำไร่ทำนา ทำสวนมะม่วงหิมพานต์ และปลูกพืชตามฤดูกาล เช่น ข้าวโพด ถั่ว เป็นต้น
                   7.3 ข้อมูลด้านแหล่งน้ำทางการเกษตร
                         การพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรตำบลร่วมจิต มีการก่อสร้างกันทั่วไปมีหลายประเภท ได้แก่ สร้างสระเก็บน้ำงานขุดลอกหนองและบึง และงานสูบน้ำสำหรับทำการเกษตร โดยมีรายละเอียดงานแต่ละประเภท ดังนี้
                         สร้างสระเก็บน้ำคือ แหล่งเก็บขังน้ำฝน น้ำท่า หรือน้ำที่ไหลออกมาจากดินด้วยการขุดดินให้เป็นสระสำหรับเก็บขังน้ำ โดยมีขนาดความยาว ความกว้าง และความลึกของสระ ตามจำนวนน้ำที่ต้องการจะเก็บไว้ใช้งาน
                         ขุดลอกหนองและบึงเป็นงานขุดลอกดินในหนองและบึงธรรมชาติที่ตื้นเขิน ให้มีความลึกจนสามารถเก็บน้ำได้เพิ่มมากขึ้น
                         สูบน้ำสามารถส่งน้ำต่อไปตามคลองส่งน้ำ ให้กับพื้นที่เพาะปลูก แหล่งน้ำดังกล่าวอาจเป็นแม่น้ำ ห้วย หนอง คลอง บึง และอ่างเก็บน้ำ ซึ่งจะต้องมีน้ำเพียงพอให้สูบไปใช้งานได้ ในเวลาที่ต้องการ
                   7.4 ข้อมูลด้านแหล่งน้ำกิน น้ำใช้ (หรือน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค)    
                          1. แหล่งน้ำธรรมชาติที่สำคัญคือ  คลองสิงห์  ห้วยหัวช้าง  ไหลผ่านหมู่ที่  4  ,  10  และ  11  ส่วนห้วยสามแสน  ไหลผ่านหมู่ที่  3  สำหรับใช้ในด้านการเกษตรกรรมแต่ไม่เพียงพอเนื่องจากลำคลองตื้นเขิน  และเกิดปัญหาการรุกล้ำแนวคลองสำหรับน้ำบริโภค  และมีอ่างเก็บน้ำ  2  แห่ง  สระน้ำจำนวน  10  แห่ง                
                          2. เทศบาตำบลร่วมจิต  ได้ดำเนินการก่อสร้างระบบผลิตน้ำประปาแห่งใหม่ โดยใช้งบประมาณการก่อสร้างจำนวน  16,857,000  บาท   เนื่องจากระบบเก่าก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2524 สร้างโดยงบประมาณของนิคมสร้างตนเองลำน้ำน่านร่วมกับการประปาส่วนภูมิภาค   และโอนให้สุขาภิบาลร่วมจิตดำเนินการเองเมื่อ พ.ศ. 2535  ซึ่งการผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน  ซึ่งระบบใหม่นี้เป็นระบบที่สามารถรองรับการเติบโตของตำบลร่วมใจในอนาคต  เนื่องจากปัจจุบันเทศบาลตำบลร่วมจิตมีจำนวนครัวเรือนประมาณ  1,068  ครัวเรือน  แต่ระบบผลิตฯนี้รองรับการผลิตน้ำได้ประมาณ 2,000  ครัวเรือน         
                          3. การประปาหมู่บ้าน มีจำนวน 2 แห่งคือหมู่ที่ 4 และ 11 ตำบลร่วมจิต
                          4. ระบบประปา(น้ำบาดาล)ขนาดใหญ่  จำนวน  8  แห่ง มีทุกชุมชนในเขตเทศบาลตำบลร่วมจิต