ประวัติความเป็นมา

ความเป็นมา ขนาดและที่ตั้ง
                   “เทศบาลตำบลร่วมจิต”  เป็นตำบลใหม่ตั้งอยู่ในตำบลร่วมจิต  อำเภอท่าปลา  จังหวัดอุตรดิตถ์  แต่เดิมอำเภอท่าปลา  ชื่อเดิมเรียกว่า  “ทับป่า”  ขึ้นอยู่กับจังหวัดน่าน  ตามตำนานเคยมีสถานที่ริมแม่น้ำน่าน  มีหินใสสีขาวเหมือนตาปลาอยู่ในน้ำลึก  เชื่อว่าหินนี้ศักดิ์สิทธิ์มาก  ในวันสงกรานต์จะทำพิธีบวงสรวงแล้วจึงนำหินไปสกัดและเรียกบริเวณนี้ว่า  “บ่อแก้วตาปลา”  ต่อมาเรียกเพี้ยนเป็น “แก้วท่าปลา”  และหมู่บ้านนี้เรียกต่อมาว่า  “บ้านท่าปลา”  ซึ่งเป็นภาษาคำเมือง  หมายถึง  รอปลาขึ้นและจับปลานั่นเอง  ในสมัยที่เจ้าเมืองน่านยังมีเจ้าเมืองเป็นผู้ครอบครองนครน่าน  เมื่อประมาณร้อยปีเศษ  โดยรวมแขวงศีรษะเกษกับแขวงท่าปลาเข้าด้วยกันเป็นเขตน่าน  แต่เนื่องจากการติดต่อประสานระหว่างจังหวัดน่านกับอำเภอท่าปลาไม่สะดวก  เพราะระยะทางไกลมาก           
                   ต่อมาเมื่อปี  พ.ศ.  2465  จึงแยกมาขึ้นกับจังหวัดอุตรดิตถ์  และเมื่อประมาณปี  พ.ศ.  2512  ได้ย้ายมาที่ว่าการอำเภอท่าปลา  มาตั้งอยู่ในชุมชนอำเภอท่าปลาในปัจจุบันนี้  เนื่องจากที่ว่าการอำเภอเดิม  และเมื่อปีพุทธศักราช  2513 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดยกรมชลประทาน  ได้เปิดโครงการพัฒนาลุ่มน้ำน่านและก่อสร้างเขื่อนสิริกิติ์  ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่  พื้นที่อำเภอบางส่วนกลายเป็นอ่างเก็บน้ำ  ราษฎรก็ยินยอมและอพยพจากที่อยู่เดิมมายังที่นิคมสร้างตนเองลำน้ำน่าน  กรมประชาสงเคราะห์จัดสรรให้  ชาวอำเภอท่าปลาต้องละทิ้งถิ่นฐานบ้านที่อยู่เคยอยู่มาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ  ต้องหอบลูกจูงหลานเหมือนกับบ้านแตกสาแหรกขาด  ราวกับผู้ประสบภัยสงครามเกิดการผลัดพราก  พ่อแม่อยู่ทางลูกอยู่ทาง  จากเดิมที่มีความอุดมสมบูรณ์  ทั้งป่าไม้และสัตว์ป่า  สัตว์น้ำ  ผู้คนอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข  แต่ปัจจุบันดินแดนที่เป็นที่ตั้งของประชาชนในอำเภอท่าปลา  ผืนดินส่วนใหญ่เป็นดินลูกรังมีความแห้งแล้ง  ทำการเกษตรไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร  ชาวท่าปลาประสบกับความทุกข์ยากอย่างแสนสาหัส  เพื่อให้คนอีกหลายแสนหลายล้านคนได้มีความเป็นอยู่ที่สุขสบาย  มีน้ำมีกระแสไฟฟ้าใช้  แต่ตนเองต้องลำบากตรากตรำทุกขเวทนากว่า 30 ปีแล้ว
ต่อมาชุมชนตำบลร่วมจิตบางส่วนมีความเจริญจึงได้ยกฐานะเป็น “สุขาภิบาลร่วมจิต” เมื่อวันที่  13  ตุลาคม  พ.ศ. 2526  ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา  เล่มที่  100  ตอนที่  197  ลงวันที่   20  ธันวาคม  พ.ศ. 2526  และต่อมาได้มีพระราชบัญญัติ การเปลี่ยนแปลงฐานะจากสภาตำบล เป็น  สุขาภิบาล และเป็นเทศบาลตำบล พ.ศ. 2542  ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา  เล่มที่  116  ตอนที่  9    ลงวันที่  24  กุมภาพันธ์  พ.ศ. 2542    เป็นผลให้สุขาภิบาลร่วมจิตได้เปลี่ยนแปลงฐานะเป็น “เทศบาลตำบลร่วมจิต” เมื่อวัน ที่ 25 พฤษภาคม  พ.ศ.  2542 เป็นต้นมา โดยกำหนดใช้ชื่อ  และแนวเขตพื้นที่เดิมของสุขาภิบาลร่วมจิต
 
ปัจจุบันอำเภอท่าปลา  เป็นอำเภอที่มีพื้นที่มากที่สุดของจังหวัดอุตรดิตถ์ อยู่ห่างจากจังหวัดอุตรดิตถ์ประมาณ 40 กิโลเมตร  เป็นแหล่งอารยธรรมและอดีตดินแดนล้านนาตะวันออก  พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบที่อยู่ระหว่างเนินเขาและภูเขา  มีอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิริกิติ์อยู่ตอนกลาง  พื้นที่ส่วนใหญ่ของอำเภออยู่ในการดูแลของนิคมสร้างคนเองลำน้ำน่าน  เขตอนุรักษ์พันธ์สัตว์ป่า  และเขตป่าสงวนแห่งชาติ  โดยมีพื้นที่ที่เป็นกรรมสิทธิ์ของประชาชนน้อยมาก  ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเล็กๆน้อยๆตามฤดูกาล  และรับจ้างทั่วไปจึงมีรายได้ที่ไม่แน่นอนในการดำรงชีพ  ทำให้มีความเป็นอยู่ที่ค่อนข้างฝืดเคืองและมีความลำบากอยู่มาก
                   เทศบาลตำบลร่วมจิต อยู่ห่างจากตัวจังหวัดเป็นระยะทาง 29 กิโลเมตร มีพื้นที่รวมทั้งหมด  9.22  ตารางกิโลเมตร  ตำบลร่วมจิตมีอาณาเขตติดต่อดังนี้
                   ด้านเหนือ   ตั้งแต่หลักเขตที่  1  ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากศูนย์กลางถนนเข้าหมู่บ้านผัง  20  ทางทิศตะวันตก  ระยะ 100 เมตร  และห่างจากศูนย์กลางถนนเข้าหมู่บ้านผัง  30  ทางทิศเหนือระยะ 500 เมตร เป็นเส้นขนานระยะ  500 เมตร  กับศูนย์กลางทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1163 แยกทางหลวงจังหวัด หมายเลข 1045 ทางทิศตะวันออก ระยะ 1,000 เมตร  (ติดต่อเขต  อบต. ร่วมจิต   อำเภอท่าปลา)
                   ด้านตะวันออก  จากหลักเขตที่ 2 เป็นเส้นตรงไปทางทิศใต้  ถึงหลักเขตที่  3  ซึ่งตั้งอยู่ริมทางหลวงจังหวัดหมายเลข  1045  อุตรดิตถ์  -  เขื่อนสิริกิติ์  ฟากใต้  ตรงหลัก  กม. 30.300  (ติดต่อตำบลผาเลือด   อำเภอท่าปลา)
                   ด้านใต้   จากหลักเขตที่  3  เลียบเส้นแบ่งเขตระหว่างอำเภอท่าปลา   จังหวัดอุตรดิตถ์  กับอำเภอเมืองอุตรดิตถ์  จังหวัดอุตรดิตถ์  ไปทางทิศตะวันตก  ถึงหลักเขตที่  4  ซึ่งตั้งอยู่ตรงเส้นแบ่งเขตระหว่างอำเภอท่าปลา  จังหวัดอุตรดิตถ์  กับอำเภอเมืองอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ และห่างจากศูนย์กลางถนนเข้าหมู่บ้านผัง   20  ทางทิศตะวันตก  ระยะ 100 เมตร  (ติดต่อตำบลหาดงิ้ว   อำเภอเมือง)
                   ด้านตะวันตก   จากหลักเขตที่  4  เป็นเส้นขนาน  ระยะ  100 เมตร  กับศูนย์กลางถนนเข้าหมู่บ้านผัง  20  ไปทางทิศเหนือ ไปบรรจบกับหลักเขตที่  1 (ติดต่อตำบลหาดงิ้ว   อำเภอเมือง)
แผนที่ตำบลร่วมจิต
 
                   1.2 ลักษณะภูมิประเทศ
                         พื้นที่โดยทั่วไปของเทศบาลตำบลร่วมจิต    มีลักษณะเป็นเนินเขาสลับที่ราบโดยมีที่ราบเพียง 20 % ของที่ดินและที่ดินส่วนใหญ่ เป็นดินลูกรังมีความสมบูรณ์ต่ำ   ดินมีความชุ่มชื้นน้อย  ในด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ   มีลำน้ำไหลผ่านไปสู่แม่น้ำทางตอนใต้ของเทศบาล
               ลักษณะสภาพอากาศโดยทั่วไป   คล้ายกับจังหวัดต่างๆในภาคเหนือดังกล่าว   คือ    การได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมที่พัดผ่านต่อเนื่องกันตลอดปี    ได้แก่ลมมรสุมตะวันออกเฉียงใต้    จะพัดพาความชื้นและฝนมาในช่วงเดือน พฤษภาคม ถึง เดือนตุลาคม  ทำให้มีฝนตกชุก  อีกทั้งประกอบกับการมีอิทธิพลจากพายุดีเปรสชั่น  และพายุไต้ฝุ่น  จากลมมรสุมตะวันออกเฉียงใต้   ในช่วงเดือนสิงหาคม ถึงเดือนกันยายน   จากนั้นมีลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ    พัดพาความหนาวเย็นเข้ามาในช่วงเดือน ตุลาคม   ถึงเดือนกุมภาพันธ์อีกด้วย  และมีลมใต้พัดพาความร้อนและลมแล้ง  มาในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายนประกอบกับ   ลักษณะภูมิอากาศของเทศบาลที่มีพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบสลับเนินเขา  มีป่าไม้ล้อมรอบ จึงทำให้มีลักษณะภูมิอากาศแบบฝนเมืองร้อนเฉพาะฤดู ที่มีลักษณะอากาศในช่วงระยะฤดูฝนสลับกับช่วงระยะ
                   1.3 ลักษณะภูมิอากาศ
          สภาพภูมิอากาศแบบมรสุม  มี  3  ฤดู  คือ
ฤดูร้อน  เริ่มตั้งแต่เดือน  มีนาคม  ถึงเดือน  มิถุนายน  มีสภาพอากาศร้อนอบอ้าว  อุณหภูมิโดยเฉลี่ยประมาณ   40   องศาเซลเซียส
ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่เดือน  กรกฎาคม  ถึงเดือน  ตุลาคม  มีฝนตกชุกหนาแน่น  ปริมาณน้ำฝน
โดยเฉลี่ยประมาณ  1,200   มิลลิเมตร
ฤดูหนาว  เริ่มตั้งแต่เดือน พฤศจิกายน ถึงเดือน กุมภาพันธ์  มีสภาพอากาศหนาว ถึง หนาวจัดอุณหภูมิโดยเฉลี่ยอยู่ระหว่าง  16  องศาเซลเซียสและลดต่ำลงจนถึง  12  องศาเซลเซียส
1.4 อาชีพ
  • อาชีพรับจ้างทั่วไปร้อยละ 50           -  อาชีพค้าขายร้อยละ  10
  • อาชีพเกษตรกรรมร้อยละ  30          -  อาชีพอื่น ๆ  ร้อยละ  10
 
1.5 หน่วยธุรกิจในเขตตำบลร่วมจิต
                   -   ธนาคารออมสิน(สาขาท่าปลา)                     จำนวน  1        แห่ง
                   -   ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร    จำนวน  1        แห่ง
                   -   สถานีย่อยการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคอำเภอท่าปลา    จำนวน  1        แห่ง
-   ปั๊มน้ำมันใหญ่         จำนวน            1        แห่ง
-   ปั๊มหลอด               จำนวน            1        แห่ง
-   ร้านค้า                  จำนวน           73        แห่ง
-   สหกรณ์ฯ               จำนวน            2        แห่ง
-   กิจการไฟแนนซ์       จำนวน           3         แห่ง
-   รับซื้อพืชไร่ตามฤดูกาล จำนวน        3         แห่ง